"จนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่”
เขียนโดย Padunkiaet Vejvechaneyom
"จนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่” (until the time of correction) (mechri kairou diorthōseōs) และเวลานั้นมาถึงแล้ว
ขอเราอ่านและใคร่ครวญพระวจนะตอนต่อไปนี้:
“เมื่อจัดเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างนั้นแล้ว พวกปุโรหิตก็เข้าไปในห้องชั้นนอกนั้น (พลับพลาแรกนั้น) ทุกครั้งที่ประกอบศาสนพิธี 7 แต่ในห้องที่สองนั้น มีมหาปุโรหิตผู้เดียวเท่านั้นที่เข้าไปได้ปีละครั้ง และต้องนำเลือดเข้าไปถวายเพื่อตัวเอง และเพื่อบาปที่ประชาชนทำโดยไม่เจตนาด้วย 8 โดยสิ่งนี้เอง พระวิญญาณบริสุทธิ์จึงทรงสำแดงว่า ทางที่นำเข้าสู่สถานศักดิ์สิทธิ์นั้นยังไม่เปิด ตราบใดที่ห้องชั้นนอกนั้นตั้งอยู่ 9 ซึ่งเป็นเครื่องหมายของยุคปัจจุบัน การนำของถวายและเครื่องบูชามาถวายตามแบบนี้ ไม่สามารถชำระมโนธรรมของผู้ถวายนั้น 10 เพราะเป็นเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม และพิธีชำระล้างต่างๆเท่านั้น เป็นเพียงกฎเกณฑ์ต่างๆทางกายเกี่ยวกับชีวิตภายนอกที่ได้บัญญัติไว้ จนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่” (ฮีบรู 9:6-10)
คำอธิบาย........
1. "ห้องแรก" = วิสุทธิสถาน ที่ “ปุโรหิต” จะเข้าไปทุกวันเพื่อประกอบศาสนพิธี อยู่แต่ในห้องแรก เข้าห้องที่สองไม่ได้ มีม่านกั้นที่หนาและหนักกั้นอยู่ ม่านนี้ฉีกขาดจากบนลงล่างตอนพระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์บนกางเขน
2. "ห้องที่สอง" = อภิสุทธิสถาน ที่ “มหาปุโรหิต” จะเข้าไปปีละครั้งเพื่อประกอบศาสนพิธีในวันชำระบาป หรือ ที่เรียกว่า Yom Kipper (Yom Kippurim) หรือ Day of Atonement [ความหมายที่แท้จริงคือเป็น "วันกลบบาป" (Day of Coverings) เหมือนการกวาดเอาของสกปรกไปไว้ใต้พรม ให้พรมกลบเอาไว้] เป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของชนชาติอิสราเอล ประชาชนจะไม่ทำงานในวันนี้ เสมือนเป็นวันสะบาโตแห่งวันสะบาโตทั้งหลาย (a sabbath of sabbaths)
3. ประชาชนทั่วไปยืนอยู่แต่ภายนอก หมดสิทธิ์เข้าเฝ้าพระเจ้าได้โดยตรง
4. พระวิญญาณของพระเจ้าทรงสำแดงให้เห็นว่า ตราบใดยังมีระบบปุโรหิตทำศาสนพิธีแบบนี้ (ระบบปุโรหิตเลวีในพันธสัญญาเดิม) ทางที่นำเข้าสู่สถานศักดิ์สิทธิ์นั้นยังไม่เปิด ประชาชนและแม้แต่ปุโรหิตทั่วไปก็เข้าเฝ้าพระเจ้าที่สถิตอยู่ในห้องที่สอง คือ อภิสุทธิสถาน ไม่ได้เพราะมีม่านใหญ่หนากั้นอยู่ ม่านนี้ขาดลงในตอนที่พระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์บนกางเขน [ตามคำเล่าขาน พวกยิวพยายามจะเย็บม่านที่หนาและหนักนั้นกลับคืนมาใช้ แต่ไม่นานพระเจ้าก็ทรงให้กองทัพโรมันเข้ามาทำลายล้างกรุงเยรูซาเลมในอีกไม่กี่สิบปีต่อมา (ปี 70) เป็นอันจบสิ้นของระบบปุโรหิตเลวี]
5. การนำของถวายและเครื่องบูชามาถวายตามแบบนี้ ไม่สามารถชำระ "มโนธรรม" ของผู้ถวายนั้น ที่ทำได้คือการอภัยหรือกลบบาปไว้ชั่วคราวเป็นวันๆ และ ในหนึ่งปีก็ต้องมีวันชำระบาปนี้ [Yom Kipper (Yom Kippurim)] โดยมหาปุโรหิตอีก ทำเช่นนี้ชั่วนาตาปีไม่มีวันจบ
6. "เรื่องอาหารและเครื่องดื่ม" และ "พิธีชำระล้างต่างๆ" เหล่านี้ จึงเป็นเพียงกฎเกณฑ์ต่างๆ "ทางกาย" ที่เกี่ยวกับ "ชีวิตภายนอก" ที่ได้บัญญัติไว้เท่านั้น ความหมายคือ เป็นเรื่องภายนอก ไม่ใช่ภายใน เป็นเรื่องของเนื้อหนัง เป็น "หลักการของอาหาร" (เลวีนิติ 11; เฉลยธรรมบัญญัติ 14) "วิธีจัดเตรียมสิ่งที่ใช้ในศาสนพิธี" (กันดารวิถี 6:15, 17 และ 28:7-8) และ "พิธีชำระล้างต่างๆ" (อพยพ 29:4; เลวีนิติ 8:6; 16:4) เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับทางกายในการนมัสการ เกี่ยวกับชีวิตภายนอกที่ได้บัญญัติไว้เท่านั้น
7. “จนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่” (until the time of correction) (mechri kairou diorthōseōs) = เป็นเวลาที่ต้องเปลี่ยนใหม่เพราะของเดิมไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
คำว่า "diorthōseōs" แปลว่า "แก้ไขใหม่ ทำให้ถูกต้อง"(to correct, to make right) แก้ไขจากพิธีกรรมภายนอก ที่ไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ภายในได้ให้มีประสิทธิภาพเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ภายในได้
8. สิ่งต่างๆที่กล่าวมาจึงเป็น "สิ่งชั่วคราว" ในแผนการความรอดของพระเจ้า และเวลานี้มาถึงแล้วเมื่อพระคริสต์ผู้ทรงเป็นมหาปุโรหิตใหญ่ ที่ได้ทรงถวายพระองค์เองเป็นเครื่องสักการะบูชา โดยโลหิตที่หลั่งออก ครั้งเดียวเป็นพอ บนกางเขน ได้ไถ่บาปผู้เชื่อเป็นนิรันดร์ และพระองค์ได้เสด็จไปประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้าและทูลขอเผื่อเราผู้เชื่อในพระองค์ทั้งปวง เราจึงสามารถเข้าเฝ้าพระเจ้าได้ถึงในห้องอภิสุทธิสถานในสวรรค์โดยทางพระเยซูคริสต์