พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ที่เรามีในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้
เขียนโดย Padunkiaet Vejvechaneyom
1. ต้นฉบับที่เขียนโดยอัครทูตและผู้ที่ติดตามใกล้ชิดไม่หลงเหลือแล้วในปัจจุบัน เหลือแต่ฉบับคัดลอก และฉบับที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ รวมถึงข้อเขียนของบรรดาเหล่าผู้รู้ในยุคแรกที่อ้างถึงพระวจนะตอนต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นหลักฐานที่ดีและเป็นสิ่งที่ใช้ตรวจสอบ สืบค้นไปถึงต้นตอของต้นฉบับได้
1.1 ฉบับคัดลอกภาษากรีก ซึ่งมีมากกว่า 5,400 ชิ้น (ได้แก่ papyri, Uncial, Minuscule, Lectionaries และ อื่นๆ) และมีมากขึ้นเรื่อยๆตามการค้นพบ
1.2 ฉบับคัดลอกที่แปลเป็นภาษาอื่นๆอีก เช่น ลาติน, เอธิโอเปีย, สลาวิค, อาร์มีเนียน, Syriac Peshitta, Bohairic รวมๆหมดมีไม่น้อยกว่า 20,000 ต้นฉบับคัดลอก
1.3 ข้อเขียนของบรรดาผู้นำคริสตจักรในยุคแรกๆ (Church Fathers) อีกมากมาย เช่น Ignatius (ปี 70-110) ซึ่งเขียนจดหมายฝาก 7 ฉบับไปยังคริสตจักรต่างๆ มีการยกมาจากพระธรรม 18 พระธรรมของพันธสัญญาใหม่ ผู้รู้กล่าวว่าแม้พันธสัญญาใหม่จะถูกทำลายหมด แต่ถ้าเราใช้หลักฐานข้อเขียนของเหล่าบรรดา Church Fathers เหล่านี้ประกอบกัน ก็จะได้พันธสัญญาใหม่ครบถ้วน
2. การบอกถึงความน่าเชื่อถือของสิ่งที่เขียน ผู้รู้เรื่องประวัติศาสตร์จะมองไปที่ 2 อย่าง คือ
2.1 ระยะเวลาที่ห่างระหว่างต้นฉบับจริงกับฉบับคัดลอก ว่าห่างกันแค่ไหน สำหรับพันธสัญญาใหม่ คือ 50-400 ปีซึ่งน้อยกว่าหนังสือประวัติศาสตร์อื่นๆ กล่าวคือ ยิ่งระยะเวลาห่างน้อย ยิ่งน่าเชื่อถือกว่า และ
2.2 จำนวนฉบับหรือสิ้นส่วนที่คัดลอกไว้ที่หลงเหลือ ยิ่งมากยิ่งยืนยันได้ดี ในปัจจุบันพบว่าที่เกี่ยวกับพันธสัญญาใหม่นี้มีมากมายถึงกว่า 25,000 ต้นฉบับคัดลอก ซึ่งเพียงแค่ 2 อย่างนี้ พันธสัญญาใหม่ก็กินขาดแล้วเมื่อเทียบกับทุกข้อเขียนในทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ คือ มีเวลาที่ห่างน้อยกว่า และ จำนวนชิ้นส่วนคัดลอกที่หลงเหลือก็มีมากมายกว่าข้อเขียนทางประวัติศาสตร์อย่างอื่นหลายร้อยเท่า
3. ส่วนเรื่องการคัดลอกที่มีคำแตกต่างกันในแต่ละฉบับคัดลอก (Variant readings) เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ 2 แบบใหญ่ๆ
3.1 แบบไม่ได้ตั้งใจ (Unintentional variations) คือ ตามองผิด ได้ยินไม่ชัด เข้าใจผิด จำผิด เขียนผิด ตัดสินใจพลาดผิด จึงเขียนลอกลงไปอย่างนั้น
3.2 แบบตั้งใจ (Intentional variations) คือ คนคัดลอกตั้งใจทำให้มันชัดเจนขึ้น ขัดเกลาไวยากรณ์ อันไหนคลุมเครือเข้าใจยากก็เปลี่ยนใหม่ ตามความเห็นตัวเอง บางทีตั้งใจสอดใส่ความเข้าใจที่ผิดๆลงไปก็มี พอเวลาผ่านไปหลายร้อยปี จำนวนคัดลอกก็มีมากมาย ความแตกต่างเลยมากนับเป็นหมื่นๆแห่ง
คนที่โจมตีคริสเตียนก็มักจะใช้จุดนี้ (Variant readings) มาบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์ใหม่ของคริสเตียน แต่ถ้าศึกษาพระคัมภีร์ใหม่อย่างจริงจังแล้ว จะเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นของความไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด
4. แม้เราจะไม่มีต้นฉบับจริงหลงเหลือ แต่จากบรรดาฉบับคัดลอกและฉบับแปลโบราณที่เป็นภาษาอื่นๆและบรรดาข้อเขียนของเหล่า Church Fathers หรือผู้รู้คริสเตียนยุคแรกๆที่มีมากมายรวมกันทั้งหมดมากกว่า 25,000 แหล่ง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ผู้รู้คริสเตียนในปัจจุบันจะ "สกัด" และทำให้พระคัมภีร์ใหม่ "กลับคืนสู่สภาพเดิม" หรือ "ใกล้เคียงต้นฉบับเดิมมากที่สุด" ได้ และ ก็ได้ทำกันไปแล้ว
5. ดังนั้น ที่เราเห็นเป็นฉบับแปลตางๆที่เราใช้ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่มีความน่าเชื่อถือแม้จะมี variants (ข้อแตกต่างแยกย่อย) มากมายในการแปลและเชิงอรรถ แต่เมื่อ่านพระคัมภีร์ภากคพันธสัญญาใหม่แล้ว ก็จะได้ความเข้าใจ ความหมายที่ถูกต้อง และการนำไปใช้ รวมถึงหลักศาสนศาสตร์ที่เหมือนๆกัน (ตีความแบบมาตรฐาน) เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของผู้ที่เขียนพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลใจจากพระวิญญาณของพระเจ้า
6. ขอเราสบายใจกันได้ในเรื่องนี้ อยู่ที่อ่านหรือไม่อ่านเท่านั้นครับ
ส่วนเรื่องเกี่ยวกับพันธสัญญาเดิม จะมาเล่าให้ฟังทีหลัง ถูกต้องและเชื่อถือได้เช่นกัน